ดูแลผู้ป่วนติดเตียงให้อยู่อย่างสุขกาย สบายใจ

ผู้ป่วยติดเตียง เป็นผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังจนเกิดสภาวะร่างกายเสื่อมโทรมทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติ ซึ่งตัวผู้ป่วยนั้นจะช่วยเหลือตนเองได้น้อยหรืออาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลยแม้แต่น้อย ผู้ป่วยจึงไม่อาจเลี่ยงที่จะ ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน ๆ ได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยติดเตียง มีหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งจากการป่วยเป็นโรคร้าย อุบัติเหตุจากการรักษา เช่น การผ่าตัดใหญ่ ความผิดปกติของระบบประสาท ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยสาเหตุดังกล่าวหรือนอกเหนือจากที่กล่าวมาก็ดีจะทำให้ให้ร่างกายของผู้ป่วยอ่อนแอและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ด้วยเหตุนี้ การดูแลผู้ป่วยติดเตียง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าหากว่ามีผู้ป่วยแบบนี้อยู่ในครอบครัวงเรานะครับ

  1. สถานที่ ห้องพักอาศัยควรเป็นห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นสัดเป็นส่วน ดูแลความสะอาดสม่ำเสมอ ถ้าจะให้ดีควรอยู่ในตำแหน่งที่เคลื่อนย้ายตัวผู้ป่วยได้สะดวกในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีการวางแผนเคลื่อนย้ายและมีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลใกล้บ้านติดอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน

2. เตียงนอน สำคัญมากนะครับ เพราะตัวผู้ป่วยจะต้องอยู่ด้านบนตลอด ควรมีความสูงที่เหมาะสมเพื่อให้การช่วยเหลือของผู้ช่วยมีความสะดวก ผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่มักจะพลิกตัวหรือขยับตัวเองไม่ได้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับจึงต้องคอยหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือใช้เบาะลมเพื่อป้องกันแผลกดทับ โดยอาจใช้เตียงคนไข้ หรือเตียงผู้ป่วยโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความสะดวก

3. การรับประทานอาหาร ห้ามให้ผู้ป่วยทานอาหารในท่านอนเด็ดขาดเพราะเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร ควรจัดให้อยู่ในท่านั่งโดยไขเตียงสูงหรือนั่งห้อยขาข้างเตียงสำหรับผู้ป่วยที่พอจะนั่งได้เอง หลังทานอาหารเสร็จก็ควรจะให้นั่งอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนปรับเป็นท่านอน ในรายที่ต้องใส่สายให้อาหารก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันเพียงแต่ต้องระวังไม่ให้สายหลุดและดูแลความสะอาดให้ดี และไปพบหมอเพื่อทำการเปลี่ยนสายตามกำหนด

4. เรื่องความสะอาด โดยการทำความสะอาดร่างกาย จะต้องเช็ดตัวหรือสระผมให้ผู้ป่วยเพื่อสุขอนามัยได้ โดยอาจเป็นวันเว้นวันหรืออาทิตย์ละ 2-3 ครั้งตามความเหมาะสม

5. โภชนาการเป็นเรื่องสำคัญ อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยที่อยู่ติดเตียงมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เพราะจะสร้างความลำบากให้แก่ทั้งผู้ป่วยเองและคนที่ช่วยดูแล

6. อย่าลืมหมั่นบริหารร่างกายด้วยนะครับ การออกกำลังกายยังคงจำเป็นเสมอแม้ผู้ป่วยจะอยู่ติดเตียง เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้เส้นยึดติดซึ่งจะสร้างความลำบากให้แก่คนช่วยและตัวผู้ป่วยเอง นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยนั่งข้างเตียงได้บ้าง เพราะการนั่งจะทำให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกปอดขยายเต็มที่ ยังทำให้ความดันคงที่อีกด้วย

7. ร่างกายแข็งแรง จิตใจต้องแข็งแกร่ง ผู้ป่วยที่อยู่ติดเตียงก็เช่นกันและผู้ป่วยเหล่านี้ยิ่งต้องการกำลังใจและการเอาใจใส่มากกว่าปกติ การดูแลแต่ร่างกายโดยละเลยด้านจิตใจจะทำให้ผู้ป่วยยิ่งหดหู่และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าลูกหลานควรหมุนเวียนมาให้กำลังใจหรือร่วมทำกิจกรรมกับท่าน เพื่อให้ท่านยังรู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญ หมั่นพูดคุย ทักทายอย่าปล่อยให้ท่านเดียวดาย แล้วท่านจะมีความสุขโดยลืมความเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับแนวทางในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน พวกเราทุกคน ในฐานะลูกหลาน ที่เราจะต้องปฏิบัติต่อผู้มีพระคุณของเรา ทำไม่ยากเลยใช่ไหมครับ เพื่อให้ท่านอยู่อย่างสุขกาย สบายใจ ตัวเราเองที่เป็นผู้ดูแล ก็ไม่เหนื่อยเกินไปด้วยนั่นเอง